ภาพหญิงชรานำดอกบัวขึ้นจบเหนือหัว เพื่อบูชาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในขณะที่พระองค์โน้มพระวรกาย ก้มพระเศียรเกือบติดศีรษะหญิงชรา รับดอกบัวจากหญิงชราครั้งที่พระองค์เสด็จไปทรงทักทายหญิงชราที่ปรากฏในภาพ คือ “แม่เฒ่าตุ้ม จันทนิตย์” ชาวบ้านธาตุน้อย อาศัยอยู่บ้านเลขที่ ๒๒ หมู่ที่ ๑๑ ต.พระกลางทุ่ง อ.ธาตุพนม จ.นครพนม
 
ภาพนี้ถ่ายโดยนายอาณัติ บุนนาค เมื่อครั้งเป็นหัวหน้าช่างภาพส่วนพระองค์ ณ จุดรับเสด็จ ตอนเสด็จกลับจากการบำเพ็ญพระราชกุศลที่วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อ.ธาตุพนม เพื่อกลับไปประทับแรมที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ในตอนบ่ายของวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๘ จุดรับเสด็จนี้คือบริเวณ สองฟากถนนตรงสามแยกชยางกูร-เรณูนคร การเสด็จของพระองค์ในครั้งนั้นถือว่าเป็นครั้งแรกของการเสด็จเยือนภาคอีสาน 
 
พระราชธีราจารย์ ยังบอกด้วยว่า จากหลักฐานข้อความบันทึกของพระพนมเจติยานุรักษ์ (แก้วอุทุมมาลา ป.ธ.๖ อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมฯ สมณศักดิ์ครั้งสุดท้ายก่อนมรณภาพ เป็นพระธรรมราชานุวัตร ซึ่งได้บันทึกไว้ท้ายหนังสือ “อุรังคนิทาน” (ตำนานพระธาตุพนม) หน้า ๑๘๗ (ฉบับทีนีลนาราการพิมพ์ กทม.พ.ศ.๒๕๓๗) มาอ้างไว้ดังความในบันทึกว่า 
 
“วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๔๙๘ เวลา ๐๙.๐๐ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาท และคณะได้เสด็จถึงวัดพระธาตุพนม เข้าประตูกลาง เสด็จขึ้นสู่พระวิหารหอแก้ว ทรงนมัสการรัตนตรัย ท่ามกลางพระสงฆ์สมณศักดิ์ ๑๐ รูป แล้วทรงประทับที่เบญจาตั้งอยู่ลานพระธาตุด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ทรงเบิกแว่นเวียนเทียนสมโภช องค์พระธาตุ เมื่อเสร็จพิธีแล้วพระองค์ทั้งสองได้เสด็จออกทางประตูอุรังครักษา เยี่ยมประชาชนทางด้านเหนือวนไป ด้านใต้ ด้านตะวันออก แล้วเสด็จไปพักผ่อน และทรงเสวยพระกระยาหาร ณ ที่ว่าการอำเภอธาตุพนมแล้วเสด็จกลับไปเมืองนครพนมในเย็นวันนั้น แม่เฒ่าตุ้มเฝ้ารับเสด็จในช่วงบ่ายมิใช่ช่วงเช้า “
 
ทางด้านนายบรม จันทนิตย์ อายุ ๖๖ ปี หลานของแม่เฒ่าตุ้ม ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นามสกุลเดิมของท่านคือ จักกัติ ในปีที่ในหลวงเสด็จนั้นตนเองมีอายุ ๑๖ ปี ส่วนยายตุ้มนั้นอายุ ๑๐๒ ปี หลังจากนั้นอีก ๓ ปี ยายตุ้มก็เสียชีวิตด้วยโรคชรา หรือตรงกับ พ.ศ. ๒๕๐๑ นอกจากนี้แล้วลูกของยายตุ้มทั้ง ๖ คน ก็ตายหมดแล้วเช่นกัน ปัจจุบันนี้ลูกหลานจึงกันที่ดินส่วนหนึ่งไปเป็นที่บรรจจุอัฐิของยายตุ้ม
 
ในวันนั้นแม่เฒ่าตุ้มได้แต่งกายแบบพื้นเมืองของหญิงวัยสูงอายุในแถบแม่น้ำโขง เป็นเสื้อผ้าฝ้ายเนื้อดีอย่างหนาสีน้ำเงิน คอกลมแขนยาว นุ่งผ้าซิ่นหมี่ฝ้ายลายหมักจับ (ลายกระจับ) ตีนซิ่นเป็นลายท้องเอี่ยน (ลายท้องปลาไหล) ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาวพื้นเมืองไทยอีสานแถบแม่น้ำโขง นิยมทำเป็นลายนาค กระจับ กุ้ง และปลา ส่วนตีนวิ่น นิยมเก็บหรือขิดเป็นลายท้องปลาไหล 
 
 
บ้านของแม่เฒ่าตุ้มอยู่ห่างจากจุดรับเสด็จประมาณ ๗๐๐ เมตร ท่านเป็นชาวหมู่บ้านศรีบุญเรือง (เดิมชื่อหมู่บ้านธาตุน้อย) ลูกหลานได้ช่วยกันนำแม่เม่าไปรอเฝ้ารับเสด็จฯ ตั้งแต่เช้า นางหอมเป็นผู้จัดหาดอกบัวสายสีชมพูให้แก่แม่เฒ่า มิใช่ดอกบัวที่ใช้บูชาพระอย่างที่เข้าใจกัน ครั้นเวลาบ่ายดอกบัวจึงเหี่ยวหมด เมื่อใกล้ถึงเวลาที่จะเสด็จถึงจุดรับเสด็จ แม่เฒ่าตุ้มขอให้นางหอม นำออกไปรอเฝ้าแถวหน้าสุด เพื่อจะได้เฝ้ารับเสด็จฯ ใกล้ชิดพระยุคลบาท ก็ได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังที่เตรียมการรับเสด็จฯ เป็นอย่างดี
 
เมื่อรถยนต์พระที่นั่งมาถึงตรงจุดรับเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาทได้เสด็จลงจากรถยนต์พระที่นั่งทรงทักทายเหล่าพสกนิกรจนถึงแม่เฒ่าตุ้ม แม่เฒ่าได้นำดอกบัวทั้ง ๓ ดอกขึ้นจบบูชาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังปรากฏในภาพทางสำนักพระราชวังได้ส่งภาพเฝ้ารับเสด็จขนาด ๒ นิ้ว พร้อมด้วยพระบรมรูป (หล่อด้วยปูนปลาสเตอร์) ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผ่านมายังทางอำเภอธาตุพนม มาให้แม่เฒ่าตุ้มไว้เป็นที่ระลึกด้วย
 
“วันที่ในหลวงเสด็จนั้น หมู่บ้านทุกแห่งในจังหวัดนครพนมเกือบจะกลายเป็นหมู่บ้านร้าง เพราะทุกคนมุ่งไปรับเสด็จเพราะอยากเห็นพระเจ้าแผ่นดินเพื่อเป็นบุญตา ในวันนั้นผมและเด็กๆ ต่างปีนต้นไม้เพื่อดูในหลวง แต่ถูกเจ้าหน้าที่ไล่ลงจากต้นไม้เพราะชาวบ้านไม่ควรอยู่ในที่สูงกว่าในหลวง และผมก็ไม่รู้หรอกว่าในหลวงลงมารับดอกไม้จากยายของผม จนกระทั่งทางวังส่งรูปมาให้ ไม่น่าเชื่อว่ารูปยายตุ้มถวายดอกไม้ให้ในหลวงจะเป็นรูปที่ตราตรึงคนไทยทั้งแผ่นดิน”นายบรมกล่าวอย่างตื่นตันใจ