จังหวัดนครพนม  ประกอบด้วยชนเผ่าต่าง ๆ รวม  ๗  เผ่า  ได้แก่  ชาวผู้ไท (ภูไท) ไทยญ้อ  ไทยแสก  ไทยกะเลิง  ไทยโส้  ไทยข่า  ไทยลาว (ไทยอีสาน) แต่ละเป่าจะรวมกันเป็นกลุ่ม  กระจัดกระจายอยู่ตามพื้นที่อำเภอต่าง ๆ ดังนี้

      ๑. ชาวผู้ไท (ภูไท) ผู้พิศมัย ความสุนทรีแห่งการต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองผู้มาเยือนโดยเฉพาะการจัดการบายศรีสู่ขวัญ  เลี้ยง

อาหาร  ขี่ช้างคู่ (ดูดอุคู่ชายหญิง) หรือเหล้าหมักแบบท้องถิ่นดื่มกัน  ทั้งไหโดยใช้หลอดไม้ซางดูดน้ำเหล้าจากไห  มีพิธีกรรมในรอบปีตามฮีตสิบสิง  มีนาฏศิลป์การฟ้อนภูไทที่ร่ายรำลีลาที่อ่อนช้อยประกอบวงแคน  ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่เรณูนคร  มีบางส่วนที่อยู่ที่อำเภอนาแก  อำเภอธาตุพนม  อำเภอปลาปาก
๒.  ไทยญ้อ เป็นกลุ่มไทย-ลาว อีกกลุ่มหนึ่งซึ่งมาจากเมืองหงสา  แขวงไชยบุรีประเทศ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  เข้ามาตั้งถิ่นฐานที่ปากน้ำสงคราม  เมื่อ  พ.ศ.  ๒๓๕๗  ส่วนใหญ่อยู่ที่อำเภอท่าอุเทน  อำเภอบ้านแพง  และบ้านขว้างคี  ตำบลบ้านค้อ  อำเภอโพนสวรรค์  ซึ่งได้ชื่อว่า “หมู่บ้านคอมโดมีเนียมผี” 
๓.  ไทยแสก 
 มีภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่เมืองแสก  เขตเมืองคำเกิด  ติดชายแดนญวน  ๒๐  กิโลเมตร อพยพมาอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ตอนที่ประเทศไทยปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์  สมัยราชการที่ ๓ ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ตำบลอาจสามารถ  อำเภอเมืองนครพนม  และบางส่วนอยู่ที่อำเภอนาหว้า  มีประเพณีที่สำคัญคือ การเล่นแสกเต้นสาก
๔.  ไทยกะเลิง  มีภาษาพูดของเผ่าเช่นเดียวกับโส้  อพยพมาจากแขวงสุวรรณเขต  เขตคำม่วน  ไทยกะเลิง  ส่วนใหญ่จะตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านพระซอง  ตำบลพระซอง  อำเภอนาแก และที่ตำบลรามราช  อำเภอท่าอุเทน โดยมีศูนย์วัฒนธรรมไทยกะเลิง  ที่โรงเรียนพระซองสามัคคีวิทยา  อำเภอนาแก ในวันเปิดศูนย์ฯ “นายนาวิน  ขันธหิริญ” ได้เป็นประธานเปิดงานดังกล่าว  นอกจากนี้ยังมีบางส่วนได้ตั้งบ้านเรือยอยู่ที่ อำเภอโพนสวรรค์  อาศัยปะปนกับพวกข่าและโส้  และที่ตำบลนาถ่อน  อำเภอธาตุพนม  ก็มีจำนวนหนึ่งที่อาศัยอยู่ที่นั่น

    ศูนย์วัฒนธรรมไทยกะเลิงแห่งนี้  ตั้งขึ้นตามนโยบายฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม  และภูมิปัญญาของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม  นายนาวิน  ขันธหิรัญ  ดังนั้น  อำเภอนาแกโดยการนำของนายยงยุทธ  นุกิจรังสรรค์  นายอำเภอนาแก  จึงได้ร่วมประสานกับ  อบต. โรงเรียน  จัดตั้งศูนย์ดังกล่าวขึ้น  โดยนำเอาเอกลักษณ์แท้ ๆ ของไทยกะเลิง  ส่งเสริมและพัฒนาให้มีสีสันและงดงามอลังการ  ศูนย์วัฒนธรรม “ไทยกะเลิง” แห่งนี้ได้ปลุกเร้าให้เยาวชนตระหนักถึงคุณค่าของผลผลิตอันเกิดจากกระบวนความคิดของบรรพบุรุษที่แยบยลและลึกซึ้ง

    ของดีอย่างนี้  “คนรุ่นใหม่” ควรที่จะศึกษาและอนุรักษ์ไว้  มิให้เสื่อมสลายตามกาลเวลาไปจากแผ่นดินไทยของเรา

    ๕. ไทยโส้  ถิ่นเดิมอยู่ที่เมืองมหาชัย ก่องแก้ว  และแขวงเมืองคำม่วน  สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  อพยพเข้ามาอยู่ในภาคอีสาน  สมัยรัชกาลที่ ๓ หลังปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์  เป็นเผ่าที่มีความเชื่อ  และความศรัทธาในบรรพบุรุษ  มีพิธีกรรมที่สำคัญคือ  พิธีโส้ทั่งบั้ง  อาศัยอยู่ในพื้นที่บ้านพะทาย  หนองเทา  และบางส่วนที่อำเภอศรีสงคราม  และอำเภอโพนสวรรค์

    ๖.  ไทยข่า  เป็นชาวพื้นเมืองเผ่าหนึ่ง  ที่อาศัยปะปนอยู่กับไทยกะเลิง  ไทยโซ่ (โส้) และไทยลาว ซึ่งปัจจุบันนี้ถูกกลืนเกือบกะหมดแล้ว  เดิมไทยข่ามีถิ่นกำเนิดอยู่ในแขวงสุวรรณเขต  แขวงสาละวันและแขวงอัตปือของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  อพยพมายังประเทศไทยในรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  ชาวไทยข่าที่พอจะมีหลักฐานบ้างอาศัยปะปนกับไทยโซ่ (โส้) ในจังหวัดนครพนม  เช่น  หมู่บ้านคำเตย  ตำบลท่าจำปา  อำเภอท่าอุเทน  จังหวัดนครพนม

   ๗.  ไทยลาว  (ไทยอีสาน) เป็นประชากรกลุ่มใหญ่  พูดภาษาไทย-ลาว (ภาษาอีสานป เป็นกลุ่มผู้นำทางด้านวัฒนธรรมภาคอีสาน  เช่น  ฮีต  คอง  ตำนาน  อักษรศาสตร์  จารีตประเพณี  นิยมตั้งหมู่บ้านเป็นกลุ่ม  บนที่ดอนเรียกตามภาษาท้องถิ่นว่า “โนน” ยึดทำเลการทำนาเป็นสำคัญ  อาศัยอยู่ทั่วไป