การบูรณะพระธาตุพนมในปี พ.ศ. ๒๔๔๔ โดยพระครูวิโรจน์รัตโนบล หรือ พระครูดีโลด เป็นการบูรณะครั้งที่ ๕ โดย ได้เริ่มบูรณะแต่เดือนอ้าย ขึ้น ๑๔ ค่ำ จนถึงเดือน ๓ เพ็ญ ได้ฉลอง มีประชาชนหลั่งไหลมาจากจตุรทิศ… จนมืดฟ้ามัวดิน…

ในบันทึกของหลวงพ่อโชติ อาภคฺโค ได้กล่าวถึงงานฉลองพระธาตุพนม ดังนี้ :-

ในงานมหามงคลวันนั้นท่านเจ้าคุณพระปัญญาพิศาลเถร (หนู) เป็นผู้แสดงธรรม น้ำเสียงของท่าน สำนวนภาษา อรรถาธิบาย อุปมาอุปมัย ความสงบ กิริยาท่าทาง ดำเนินไปเยี่ยงผู้เห็นภัยด้วยความงดงามยิ่ง ไพเราะเพราะพริ้งเป็นที่ชื่นชมโสมนัส เลื่อมใสศรัทธา ประทับใจผู้ฟัง เป็นอย่างมาก ข้อความที่ท่านยกขึ้นแสดงแต่ละอย่าง ก็ซึ้ง สมบูรณ์ด้วยเหตุผล จนผู้ฟังบังเกิดความเห็นคล้อยตามไปทุกอย่าง ไม่มีแม้เสียงเคลื่อนไหว แทบจะไม่หายใจ เงียบกริบ นั่งเป็นระเบียบฟังอย่างเป็นสมาธิ ไม่มีเสียงกระแอมไอแม้กระทั่งเขยื้อนตัว เป็นต้น

น้ำเสียงของท่านเป็นกังวานชัดเจน ในสมัยนั้น ถึงไม่มีเครื่องขยายเสียง แต่กระแสเสียงของท่าน แม้จะพูดธรรมดาก็ได้ยินโดยทั่วเพราะความสงบเงียบนั่นเอง

นี่ละหนอ เมื่อครั้งพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมท่ามกลางบริษัทมากๆ ต้องกินเนื้อที่กว้างไกล สมัยพุทธกาลก็ไม่มีเครื่องขยายเสียงทำไมคนจึงได้ยินโดยทั่วกัน

ก็คงเป็นเหมือนเช่นครั้งท่านเจ้าคุณพระปัญญาพิศาลเถรท่านแสดงธรรมทั่วพระธาตุพนมนั่นเอง เพราะอาศัยความเงียบ ความสำรวมของผู้ฟัง น้ำเสียงจึงแผ่ไปทั่วทุกอณูของสถานที่บริเวณอย่างชัดเจน ซึ่งต่างจากปัจจุบันนี้เป็นไหนๆ

การแสดงความเคารพเป็นกิจเบื้องแรกในบวรพุทธศาสนา ผู้ที่ขาดความอ่อนน้อม แข็งกระด้าง ก็อย่าหวังเลยว่าจะทำมรรคผลนิพพานให้เกิดขึ้นได้ ความเคารพนั้น แสดงออกได้ ๓ ทาง คือ กาย วาจา ใจ

ก่อนฟังเทศน์ บริษัททั้งหลายสมาทานเอาไตรสรณคมน์เป็นที่พึ่งที่เคารพยึดถือ ต้องแสดงความเคารพอย่างสูงสุดหยุดนิ่ง

เมื่อครูอาจารย์ขึ้นเทศน์อบรม ถึงจะเป็นใครก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นเถระ พระเถรเณรน้อย หรือเจ้าฟ้าเจ้าคุณก็ตาม เราจะต้องให้ความเคารพเสมอภาคกันหมด เพราะผู้เทศน์ผู้แสดงธรรมท่านเอาพระธรรมของพระพุทธเจ้ามาอบรมสั่งสอนเรา เมื่อเราแสดงออกซึ่งความไม่เคารพ คือไม่ตั้งใจสงบนิ่งด้วยกาย วาจา ใจ ซึ่งแสดงว่าเราไม่มีความเคารพในพระพุทธ พระธรรม และพระอริยสงฆ์ ที่เราอุตส่าห์สมาทานเอาเป็นสรณะแต่เบื้องแรก เมื่อเป็นเช่นนั้น การสมาทาน การฟังเทศน์ จะมีประโยชน์มีความหมายอะไร ไม่มีอานิสงส์แม้แต่น้อย สักแต่ว่าเป็นทุกขเวทนา เป็นบาปกรรมเปล่าๆ

แม้ในบันทึกจะไม่ได้กล่าวถึงเนื้อหาของพระธรรมเทศนา ก็ได้บ่งบอกถึงบรรยากาศของการฟังเทศน์ของคนในสมัยนั้น ว่าเป็นไปด้วยความเคารพศรัทธา และความตั้งใจฟังอย่างแท้จริง