สมัยผ่านมาถึงกึ่งพุทธกาล  ตรงกับวันอาทิตย์ที่  29  กันยายน  พ.ศ. 2500  ขึ้น  5  ค่ำ  เดือน  11  ปีระกา ขณะนั้นเป็นเวลาประมาณตีสอง  มีฝนตกหนักมากในตัวอำเภอธาตุพนม  ตกหนักอยู่ราวครึ่งชั่วโมงก็ค่อยซาลงแล้วเป็นตกพรำ ๆ  น่าแปลกว่าขณะฝนตกหนักนั่นเกิดฟ้าร้องดังสนั่นหวั่นไหวกระทั่งแผ่นดินสะเทือนอยู่หลายหน
 
     ตอนนั้นนายไกฮวด  ชาวบ้านในตลาดธาตุพนมออกมารองน้ำฝนใส่ภาชนะที่หน้าบ้าน  ได้เห็นแสงประหลาดขนาดใหญ่เท่าลำตาลมีสีสันต่าง ๆ กันพุ่งแข่งกันมาจากทางทิศเหนือ  พอแสงนั้นมาถึงซุ้มประตูวัดพระธาตุก็พากันลอดซุ้มเข้าไป     ตรงไปที่องค์พระธาตุพนมแล้วหายเข้าไปทีละดวง ๆ 
 
     ขณะนั้นนายไกฮวดยังได้เรียกภรรยาออกมาดูด้วย  ก็พากันสงสัยว่าคืออะไรและมาแต่ไหน  ทีแรกว่าจะวิ่งไปดูที่ริมโขงเพราะโล่งดีก็กลัวฟ้าคะนอง  ได้แต่แอบมองดูเงียบ ๆ  พอรุ่งก็เล่าให้ใครต่อใครฟังแต่ไม่มีใครสนใจเท่าใดนัก
 
     ต่อมาอีกสองวันเรื่องได้ทราบถึงหู  พระเทพรัตนโมลี (แก้ว  อุทุมมาลา)  เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนม  ท่านได้ให้   สามเณรทรัพย์   ซึ่งนั่งสมาธิเก่งมากพิจารณาดูเหตุการณ์ในวัด  จิตของเณรน้อยหยั่งเข้าไปถึงลานพระธาตุก็พบกับงูใหญ่  7  ตัว มีเกล็ดขาว  หงอนแดงและหางแดง   ขนดเรียงกันเป็นแถว
 
     ขณะที่เณรน้อยกำลังงงด้วยไม่เคยเห็นอะไรอย่างนี้มาก่อน  งูใหญ่ทั้ง  7  ก็กลายเพศเป็นชายหนุ่ม  7  คนทรงชุดขาวนั่งเรียงกันเป็นแถวอยู่ลานพระธาตุชั้นใน  สามเณรยิ่งสนเท่ห์ใจหนักเข้า  กำลังสับสนอยู่นั่นเองมาณพผู้ดูลักษณะแล้วว่าคงเป็นหัวหน้าก็ถามขึ้นมาว่า
 
          “พ่อเณรมีธุระอะไรอย่ากลัว  จงบอกมา”
 
     พ่อเณรของชายหนุ่มลึกลับไม่ได้ตอบอะไรแต่กำหนดจิตหันกลับกุฏิทันที   ทันทีนั้นชายผู้เป็นหัวหน้าก็พูดขึ้นว่า  “พ่อเณรจะกลับแล้วหรือ  ขอไปด้วย  จะไปสนทนากับท่านเจ้าคุณ”  พอขาดคำก็เข้าประทับร่างสามเณร  เณรน้อยเล่าภายหลังว่าหมดสติวูบไปทันที
 
 
     ขณะนั้น  ร่างจริงของสามเณรที่ขัดสมาธิภาวนาอยู่เบื้องหน้าท่านเจ้าคุณแก้วและแขกของท่านอีก  4  คนก็ลืมตาขึ้น  แล้วยกมือไหว้ท่านเจ้าคุณแก้วพลางว่า 
 
          “สวัสดีท่านเจ้าคุณ  หม่อมฉันมาสองคืนแล้วมิรู้หรือ”
 
     อากัปกิริยาดังกล่าว  ท่านเจ้าคุณแก้วย่อมทราบแก่ใจดีว่าสามเณรที่ท่านเลี้ยงมากับมือไม่ทำเช่นนี้แน่  อีกทั้งการพูดการจาก็มิใช่ลักษณะสามเณรทรัพย์คนเก่า  ท่านจึงซักไซร้ไต่ถาม  เณรน้อยได้ตอบอย่างฉะฉานใช้ศัพท์และถ้อยคำอย่างผู้อาวุโสในโลกมานาน  ยังความอัศจรรย์แก่ท่านเจ้าคุณและผู้อยู่ในเหตุการณ์ยิ่งนัก  ได้ความว่า…
 
     ท่านทั้ง  7  เป็นพญานาคราช  แต่เดิมอาศัยอยู่ในสระอโนดาตบริเวณเทือกเขาหิมาลัย  หากองค์อัมรินทราธิราชได้มีบัญชาให้มารักษาองค์พระธาตุพนมแทนเทวดาพวกเก่า  เพราะพวกหมู่นั้นชอบแต่กินสินบนเครื่องเซ่นสรวงบูชา  แม้ใครไม่ให้หรือหลงลืมก็ลงโทษเขาต่าง ๆ นานา  เป็นที่เสื่อมเสียแก่พระบรมธาตุ
 
     ท่านทั้ง  7  จึงมาตามเทวบัญชาและขับไล่เทวดาพวกเก่าทั้งหมดหนีไปแล้ว  ต่อนี้ไปจะรักษาพระธาตุพนมไปจนกว่าจะสิ้นศาสนาของพระสมณโคดมถ้วน  5,000  ปี  ท่านทั้งเจ็ดมีนามอันเป็นมงคลตามโพชฌงค์อริยทรัพย์อันประเสริฐดังนี้   พญาสัทโธนาคราชเจ้า มีรัศมีกายสีน้ำเงิน  พญาสีลวุฒินาโค มีรัศมีกายสีเขียวนิล  พญาหิริวุฒินาโค มีรัศมีกายสีเขียวอ่อน  พญาโอตตัปปวุฒินาโค มีรัศมีกายสีเหลือง  พญาพาหุสัจจวุฒินาโค มีรัศมีกายสีชมพู  พญาจาคะวุฒินาโค มีรัศมีกายสีแสด  และ  พญาปัญญาเตชะวุฒินาโค มีรัศมีกายสีขาว   โดยนาคทั้งเจ็ดนั้นมีพญาสัทโธนาคราชเจ้าผู้เปี่ยมด้วยบุญบารมีและฤทธานุภาพยิ่งกว่าใครในกลุ่มเป็นหัวหน้า
 
     ท่านทั้ง  7  ไม่ประสงค์เครื่องเซ่นแต่อย่างใด    หากต้องการติดต่อหรือต้องการบูชาท่านจริง ๆ ให้ใช้แต่น้ำสะอาดถ้วยเดียว  หรือถ้าประสงค์ความช่วยเหลือให้ตั้งน้ำ  1  ขันลอยดอกมะลิ  จุดธูปขึ้น  7  ดอก  ท่านก็จะไปสงเคราะห์ให้  ไม่ว่าอยู่ที่ใดในโลกก็ไปได้ทั้งนั้น
 
     จากคำบอกเล่าของท่านนับว่าเป็นเรื่องประหลาดอีกเรื่องสำหรับเราผู้คลุกคลีอยู่กับกามโลก  คงไม่อาจรู้เห็นได้อย่างท่านผู้ประพฤติธรรม  ทราบจากครูบาอาจารย์ทุกองค์เลยว่า เมื่อออกธุดงค์แล้วเป็นต้องได้พบเจอ   นาค   เสมอไป  หลวงปู่ชอบ  ฐานสโม  บอกว่าที่ไหนมีแหล่งน้ำธรรมชาติที่นั่นก็มีนาค   นาคชอบน้ำมากดังนั้นถ้านาคมาฝนจะตกเป็นสัญลักษณ์ทีเดียว
 
     จากนั้นพญานาคทั้ง  7  ได้ประทับสามเณรถี่ขึ้น  ช่วยเหลือประชาชนผู้ตกทุกข์ได้ยากอย่างน่าอัศจรรย์  เช่น  สูบนิ่วออกจากท้องคนป่วยด้วยปากเปล่า  กลับไปเอ๊กซเรย์ก้อนนิ่วก็หายไปจริง ๆ ไม่ใช่เรื่องล้อเล่นเพราะตอนสูบแล้วบ้วนออกมาก็มีก้อนนิ่วในปากพร้อมเลือดจริง  ทุกวันนี้ทางวัดยังเก็บโหลใส่ก้อนนิ่วไว้เป็นอนุสรณ์นับสิบโหลรักษาหายได้จริงตามบันทึกวัดนับพัน ๆ ราย
 
     เป็นที่น่าเสียดายว่าพญานาคทั้งเจ็ดปฏิญาณว่าจะประทับร่างของผู้มีศีล  8  ขึ้นไปเท่านั้น  และคน ๆ นั้นต้องฝึกกัมมัฏฐานจนได้ขั้นอุปจารสมาธิด้วย  เงื่อนไขสุดท้ายคือจะประทับได้ต้องมีท่านเจ้าคุณแก้วอยู่เป็นประธานทุกครั้งไป
 
     ซึ่งทุกวันนี้ก็หมดสิทธิ์เพราะท่านเจ้าคุณแก้วมรณภาพไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532  โน้นแล้ว  เรื่องการประทับทรงจึงเป็นอันเลิกรามาแต่นั้น
 
     มรดกที่พญานาคทั้ง  7  องค์ให้ไว้คือบรรดาพระเครื่องที่สร้างขึ้นด้วยเนื้อว่านและผงพุทธคุณก่อนปี พ.ศ. 2518  และสร้างจากผงอิฐพระธาตุพนมหลังจากพระธาตุล้ม  ท่านกราบเรียนเจ้าคุณแก้วไว้ว่า  หากจะทำพระเครื่องหรือน้ำมนต์ให้ศักดิ์สิทธิ์ขอเพียงนำสิ่งของนั้น ๆ ไปตั้งไว้ภายในกำแพงแก้วชั้นในสุดติดกับองค์พระธาตุแล้วทิ้งไว้  1  คืน  พอรุ่งอรุณเป็นอันว่าสิ่งของเหล่านั้นมีอานุภาพเต็มสมบูรณ์  อย่าได้สงสัยเลย
 
     พระธาตุพนมได้ล้มลงในวันจันทร์ที่  11  สิงหาคม  พ.ศ. 2518  เวลา  19.38  น.  ก่อนพระธาตุล้ม  7  วัน  ปรากฏเสียงร่ำไห้โหยหวนดังอยู่ทุกคืนไปทั่ว   สร้างความหวาดสยองแก่คนในวัดพระธาตุพนมและชาวบ้านใกล้เคียงเป็นนักหนา  สังหรณ์แต่ว่าจะเกิดเหตุอาเพศหากไม่รู้ว่าเป็นเรื่องอะไร   ต่อพระธาตุล้มแล้วจึงได้ทราบ
 
     มีเรื่องมหัศจรรย์โดยแท้เมื่อพระธาตุพนมล้ม  จักขอยกมาเป็นบางเรื่องที่สำคัญเท่านั้นคือ
 
     1.  เมื่อพระธาตุชั้นที่หนึ่งพังทลายลง  พระธาตุชั้นที่สองก็เอียงลงมาลักษณะคว่ำลงสู่พื้นดิน  ด้วยลักษณาการนี้ถาดสำริดที่รองรับเจดีย์ศิลาและบุษบกทองคำต้องตกลงมาสู่พื้นในลักษณะคว่ำและวัตถุสิ่งของในถาดอันเป็นของชิ้นเล็กชิ้นน้อยต้องกระจัดกระจายไปทั่ว  แต่เมื่อตกถึงพื้นกลับอยู่ในลักษณะเก่าคือหงายรองรับเจดีย์ศิลาและบุษบกทองคำอยู่เช่นเดิมไม่มีวัตถุใดกระเด็นออกมา  เหมือนกับมีคนจับยกลงมาวางไว้มากกว่าจะตกลงมาเองเป็นที่น่าอัศจรรย์
 
     2.  ขณะตรวจผอบได้พบว่ามีพระอุรังคธาตุอยู่จริงย่อมเป็นที่โล่งอก  จะได้รู้เห็นกันชัด ๆ ไปเลยว่ามีพระบรมธาตุบรรจุอยู่ในพระเจดีย์จริงมิใช่เรื่องแต่ง  และในแก้วผลึกที่ใสยิ่งกว่าใสนั้น  มีกระดูกลักษณะที่ยังไม่ได้เผา  8  ชิ้นตรงกับที่ตำราระบุไว้จริงว่า   พระมหากัสสปะเถรเจ้าตั้งจิตอธิษฐานแล้วพระอุรังคธาตุก็เสด็จออกจากพระบรมศพมาสู่ฝ่ามือขวาของพระมหากัสสปะก่อนที่ไฟทิพย์จะลุกโชนขึ้นเผาพระพุทธสรีระ  และเมื่อทำการเปิดฝาทองคำที่ปิดแก้วผลึกนั้นออกดูปรากฏกลิ่นหอมเย็นคล้ายน้ำมันจันทน์โชยไปไกลเป็นระยะถึง  10  เมตรเศษทั่วบริเวณ  บางคนถึงกับว่าเทพยดามาโปรยดอกไม้ทิพย์บูชาพระอุรังคธาตุ
 
     3.  ฉัตรทองคำยอดพระบรมธาตุได้ปาฏิหาริย์ไปพิงอยู่ที่ฝาผนังกำแพงหอพระแก้วโดยมีรอยขูดขีดเสียหายเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับความสูงที่อยู่บนสุดด้วยระยะ  57  เมตร  และทองคำเป็นโลหะที่นิ่มมากแรงกระแทกขนาดนั้นกลับไม่เสียหายอย่างที่วิตกแต่แรก  ที่สำคัญมิได้ล้มแต่ไปพิง
 
     4.  รูปหล่อโลหะสี่องค์ขนาดเท่าคนจริงของพระมหาเถระองค์สำคัญผู้มีอุปการคุณต่อพระธาตุพนมและมหาชนทั่วไป  ซึ่งรูปหล่อทั้งหมดนี้ประดิษฐานอยู่อย่างใกล้ชิดองค์พระธาตุพนมตลอดทิศทั้งสี่  เมื่อพระธาตุล้มรูปจำลองเหล่านี้กลับไม่ได้รับความเสียหายเลยแม้แต่น้อย  ขอย้ำว่าแม้แต่น้อย  ดูรูปการณ์ดุจดังพระธาตุล้มแล้วจึงนำรูปเหมือนทั้งสี่ไปตั้งภายหลังน่าอัศจรรย์นัก  รูปหล่อทั้งสี่องค์ประกอบด้วย  ท่านเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก (พระครูขี้หอม)  ท่านพระครูวิโรจน์รัตโนบล (บุญรอด  นันตโร)  ท่านพระครูศีลาภิรัต (หมี  อินทวังโส)  และ  ท่านพระเทพรัตนโมลี (แก้ว  อุทุมมาลา)
 
     พระธาตุพนมองค์ใหม่ถูกสร้างขึ้นในวันศุกร์ที่  28  พฤษภาคม  พ.ศ. 2519  แรม  15  ค่ำ  เดือน  6  ปีมะโรง วันนี้เป็นปีงูใหญ่ได้ลงเสาเข็มพระธาตุองค์ใหม่  โดยการสร้างครั้งนี้เป็นแบบสร้างครอบของเก่าลงไปเลยทีเดียว  เพราะตอนพระธาตุล้มเป็นส่วนต่อชั้นที่สองซึ่งมาเติมสมัยพญาสุมิตตธรรมวงศาขึ้นไปที่ล้มลง  ในส่วนของอุโมงค์และฐานเดิมยังคงอยู่
 
     พระธาตุพนมองค์ใหม่สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2521 ประกอบพิธียกฉัตรเมื่อวันพฤหัสบดีที่  22  มีนาคม  พ.ศ. 2522  โดยสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ  สมเด็จพระสังฆราช  (วาสน์  วาสโน)  เป็นองค์ประธานพิธี
 
     ประกอบพิธีบรรจุพระอุรังคธาตุเมื่อวันศุกร์ที่  23  มีนาคม  พ.ศ. 2522  โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา  และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์