พระธาตุเรณู เป็นพระธาตุประจำวันเกิดของคนเกิดวันจันทร์ มีคาถาสวดบูชาวันละ ๑๕ จบ ดังนี้ “อิ ระ ชา คะ ตะ ระ สา” ชื่อคาถาพระกระทู้เจ็ดแบก ใช้ทางคงกระพันชาตรี ประจำอยู่ทิศบูรพา องค์พระธาตุประดิษฐานอยู่ที่ วัดพระธาตุเรณู อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ ๕๐ กิโลเมตร
ประวัติโดยย่อคือ ได้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ เป็นพระธาตุคู่เมืองของชาวเรณูนคร โดยจำลองรูปทรงมาจากพระธาตุพนมองค์เดิม คือองค์ก่อนที่จะล้มในปี พ.ศ.๒๕๑๘ แต่มีขนาดเล็กกว่า สูง ๓๕ เมตร กว้างด้านละ ๘.๓๗ เมตร ภายในเจดีย์บรรจุคัมภีร์พระธรรม พระพุทธรูปทองคำ พระพุทธรูปเงิน เพชรนิลจินดา หน่องา และของมีค่าที่เจ้าเมืองเรณูนคร กับประชาชนนำมาบริจาค และได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันต์ธาตุ เมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๑๙ มีงานเทศกาลนมัสการพระธาตุเรณูนคร เป็นประจำทุกปี ในวันขึ้น ๑๑ – ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ รวม ๕ วัน ๕ คืน
สิ่งของบูชาพระธาตุ ข้าวตอก น้ำอบ ข้าวเหนียวปิ้ง ดอกไม้สีเหลือง ธูป ๑๕ ดอก เทียนขาว ๒ เล่ม มีจำหน่ายที่ศาลาใกล้องค์พระธาตุ เว้นข้าวเหนียวปิ้งมองหาไม่เจอ และที่ศาลาแห่งนี้ยังมีห้องจำหน่ายวัตถุมงคลอีกด้วย เชื่อกันว่าผู้ที่ได้ไปนมัสการ จะได้อานิสงค์ส่งผลให้มีวรรณะงดงามผุดผ่องดังแสงจันทร์
พระองค์แสน เป็นชื่อของพระพุทธรูปที่ประชาชนเคารพนับถือมากองค์หนึ่ง ประดิษฐานอยู่ในอุโบสถวัดธาตุเรณู เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยทองเหลือง เป็นพระเนื้อทองตันทั้งองค์ หน้าตักกว้างและสูง ๕๐ เซนติเมตร เป็นพระคู่บ้าน คู่เมือง แต่จะสร้างเมื่อใด ใครสร้างไม่ได้มีหลักฐานแจ้งไว้ แต่ที่แน่ ๆ คือ สร้างมานานแล้ว สร้างก่อนที่จะสร้างพระธาตุเรณูในปี พ.ศ.๒๔๖๐ แผ่นทองที่นำมาหลอมเป็นองค์พระพุทธรูปได้มาจาก การบอกบุญขอบริจาคจากหมู่บ้านต่าง ๆ ทั่วเรณูนคร ได้แผ่นทองเหลืองที่ลงอักขระมาก็มี เมื่อนำมาหล่อรวมนั้น กระทำในครั้งแรก หล่อไม่สำเร็จ ไม่ติดเบ้าพิมพ์ ต้องย้ายที่ไปหล่อใหม่จึงสำเร็จ แล้วอัญเชิญมาไว้ ณ อุโบสถหลังเก่าของวัดกลาง หรือวัดธาตุเรณู ในเวลาต่อมา เมื่อสร้างอุโบสถหลังใหม่แล้ว ก็อัญเชิญประดิษฐานอยู่ในอุโบสถหลังใหม่ของวัดเรณู อายุพระองค์แสนจึงมีอายุนานกว่า ๑๐๐ ปีแล้ว
เหตุที่เรียกว่า พระองค์แสน เพราะว่ามีน้ำหนัก ๑๐ หมื่น มาตราชั่งของชาวบ้านกำหนดว่า ๑๒ กิโลกรัม เป็นหนึ่งหมื่น ๑๐ หมื่น จึงเท่ากับหนึ่งแสน เท่ากับ ๑๒๐ กิโลกรัม เท่ากับน้ำหนักขององค์พระทอง
ชาวบ้านเคารพพ่อองค์แสนมาก เวลาที่ปีไหนเกิดแห้งแล้ง ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ก็จะอัญเชิญหลวงพ่อลงจากอุโบสถ ทำการแห่แหนไปตามสายต่าง ๆ ทั่วเรณูนคร เพื่อให้ประชาชนได้เคารพบูชา และสรงน้ำพระ เป็นการอธิษฐานรวมพลังให้ฟ้าฝนตกลงมา และในวันสงกรานต์ก็จะมีการอัญเชิญพระองค์แสน นำหน้าขบวนนางสงกรานต์ แห่ไปรอบเมืองในพิธีนี้ จะได้เห็นการฟ้อนรำของสาวสวยชาวเรณูนคร
ดินแดนสองฟากฝั่งแม่น้ำโขงแถบนี้ เดิมเป็นที่ตั้งของอาณาจักรศรีโคตรบูร ตัวเมืองศรีโคตรบูร ตั้งอยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง คือ ฝั่งประเทศลาวเดี๋ยวนี้ อยู่บริเวณทางใต้ของเซบั้งไฟ ตรงกันข้ามกับพระธาตุพนม อาณาจักรนี้ถือเป็นแคว้นหนึ่งในลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งขณะนั้นมีแคว้นอยู่หลายแคว้น เช่น แคว้นล้านช้าง แคว้นสิบสองจุไทย แคว้นจำปาศักดิ์ และแคว้นศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์) เป็นต้น แต่ละแคว้นจะมีเจ้าผู้ครองนคร ปกครองตนเป็นอิสระไม่ขึ้นแก่กัน
มาถึงสมัยพญานันทเสน เจ้าผู้ครองนครศรีโคตรบูร เมื่อได้สวรรคตแล้ว บรรดาเหล่าเสนาอำมาตย์ ตลอดจนราษฎรทั้งหลายเห็นว่า บ้านเมืองตั้งอยู่ตรงนี้มีเหตุเภทภัยเกิดขึ้นเสมอ ควรจะย้ายผู้คนไปสร้างเมืองกันใหม่ โดยไปสร้างยังฝั่งตรงข้ามแม่น้ำโขง (ฝั่งไทย) ซึ่งเป็นบริเวณป่าไม้รวก แล้วตั้งชื่อเมืองแห่งนี้ว่า “เมืองมรุกขนคร” อันมีความหมายว่า เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในดงไม้รวก
ในสมัยที่พญาสุมิตตธรรมิกราช ได้เป็นเจ้าผู้ครองเมืองมรุกขนครอยู่นั้น ปรากฎว่าอาณาจักรศรีโคตรบูร มีอาณาเขตขยายออกไปกว้างขวาง มีเมืองต่าง ๆ มาขึ้นต่อเมืองมรุกขนคร หรืออาณาจักรศรีโคตรบูร ชื่อเมืองสุวรรณภูมิ เมืองจันทบุรี หรือเวียงจันทน์ในปัจจุบัน เมืองร้อยเอ็ดพระนคร และได้มีการบูรณะองค์พระธาตุพนมขึ้นเป็นครั้งแรก โดยก่อกำแพงล้อมไว้ เมื่อสร้างเสร็จแล้วมีการฉลองสมโภช และได้มอบหมายให้หมู่บ้านทั้ง ๗ แห่ง ที่อยู่ในเขตแดนนั้นเป็นผู้ดูแลรักษาองค์พระธาตุ และยังมีไพร่พลให้อยู่ดูแลรักษา และปรนนิบัติองค์พระธาตุพนมอีกเป็นจำนวนถึงสามพันคน
ต่อจากพญาสุมิต ฯ ได้มีเจ้าผู้ครองนครต่อมาอีกสององค์ มรุกขนครจึงถึงกาลวิบัติ ผู้คนพากันเจ็บป่วยล้มตายกันเป็นอันมาก ในที่สุดจึงมีการอพยพหนีภัย ทิ้งให้มรุกขนครกลายเป็นเมืองร้าง จนกระทั่งมาถึงปี พ.ศ.๑๘๐๐ พระเจ้ารามบัณฑิต กษัตริย์แห่งกรุงศรีสัตนาคนหุต ได้โปรดให้เจ้าศรีโคตร ผู้เป็นโอรส มาสร้างเมืองมรุกขนครขึ้นใหม่ ใต้เมืองท่าแขก ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง กลับมาสร้างทางฝั่งลาวเมื่อสร้างเสร็จแล้ว ก็ให้อยู่ครองเมืองนั้นต่อไป
พ.ศ.๒๐๕๗ พระเจ้านครหลวงพิชิตทศพิธราชานีศรีโคตรบูรหลวง หรือเจ้าหน่อเมือง ซึ่งเป็นผู้ครองเมืองมรุกขนคร ลำดับที่ ๓ ได้เปลี่ยนชื่อเมืองเสียใหม่ว่า “เมืองศรีโคตรบูร” ให้ตรงตามชื่ออาณาจักรดั้งเดิม และได้ข้ามแม่น้ำโขงมาบูรณะปฎิสังขรณ์องค์พระธาตุพนม
พ.ศ.๒๒๘๐ พระบรมราชา หรือเอวก่าน อีสาน เรียกว่า แอวก่าน เป็นเจ้าเมืองศรีโคตรบูรองค์สุดท้าย ได้ย้ายเมืองมาตั้งบนฝั่งขวา ย้ายกลับมาฝั่งประเทศไทย เยื้องเมืองเก่าขึ้นไปทางเหนือ แล้วตั้งชื่อเมืองว่า “เมืองนคร”
พ.ศ.๒๓๒๑ ตรงกับรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้มีการย้ายเมืองอีกครั้งหนึ่งไปตั้งที่บ้านหนองจันทร์ ห่างจากที่เดิมไปประมาณ ๕๒ กิโลเมตร
พ.ศ.๒๓๓๙ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบรมราชา หรือเจ้าอู่แก้ว เจ้าผู้ครองเมืองนครถึงแก่พิราลัย พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต ทรงตั้งให้ท้าวพรหม โอรสของเจ้าเมืองเดิมเป็นพระบรมราชา ขึ้นครองเมืองแทน แต่ได้นำเครื่องบรรณาการมาถวาย ขอขึ้นตรงกับกรุงเทพมหานคร ฯ และได้ชื่อเมืองใหม่ว่า “เมืองนครพนม” นับตั้งแต่นั้นมา
เมืองนครพนม ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นเมืองหนึ่ง ขึ้นกับกรุงเทพมหานคร ฯ เจ้าเมืองมีราชทินนามว่า พระพนมนครานุรักษ์ ศรีสิทธิศักดิ์ เทพลือยศบุรีศรีโคตรบูร “ระหว่างนี้การศึกของประเทศเพื่อนบ้านก็มีอยู่เสมอ เป็นผลให้ผู้คนอพยพข้ามมาอยู่ฝั่งไทยกันหลายเผ่าพันธุ์”
พ.ศ.๒๔๕๗ ได้มีการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคเสียใหม่ มี มณฑล จังหวัด อำเภอ นครพนมจึงยกขึ้นเป็นจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดคนแรก คือ พระยาพนมนครานุรักษ์
ในนครพนมนั้นมีชาวไทยหลายเผ่า ที่สำคัญมี ๗ เผ่า คือ ไทยย้อ (ญ้อ) , ผู้ไทย , ไทยกะเลิง, ไทยแสก, ไทยโส้ หรือไทยกะโซ้ ,ไทยข่า และเผ่าไทย – ลาว
ชาวเรณูนครนั้นมีเผ่า ผู้ไทย หรือบางทีก็ไปเรียกว่า ภูไท มากที่สุด แทบจะทั้งอำเภอเลยทีเดียว ทั้งเรณูนครไม่มีชาวต่างด้าวอยู่เลย ได้แก่ ชาวจีน และชาวญวน เพราะเคยมีเรื่องบาดหมางกันมาแต่ดั้งเดิม ทำให้พวกเชื้อสายจีน และญวนอยู่ในเรณูนครไม่ได้
เมื่อทางราชการย้ายที่ตั้งอำเภอเรณูนคร ไปตั้งที่ตำบลธาตุพนม เพราะเห็นว่าติดแม่น้ำโขง และมีองค์พระธาตุพนมอยู่ที่ตำบลนี้ ชาวเรณูนครจึงน้อยใจ เพราะคิดว่าน่าจะมาจากชาวจีนอยู่ที่ธาตุพนมมาก จนค้าขายร่ำรวยจึงมีอิทธิให้ย้ายตัวอำเภอเรณูนครไปตั้งที่อำเภอธาตุพนม ชาวเรณูจึงไม่คบค้าสมาคมกับชาวจีน เมื่อเรณูย้ายกลับมาตั้งที่ตั้งในปัจจุบันนี้แล้ว ชาวจีนก็ไม่กล้าตามมาตั้งรกรากถิ้นฐานในเรณูนคร
ส่วนชาวญวนนั้น สาเหตุมีมาตั้งแต่ชาวผู้ไทยยังอยู่ที่ถิ่นเดิม คือ เมือง น้ำน้อย อ้อยหนู หรือแถน ถูกพวกญวนรังแก ชาวผู้ไทยจึงไม่กล้าคบค้าสมาคมกับพวกญวน และไม่ค้าขายด้วย เมื่อชาวผู้ไทยมาอยู่ที่เรณูนครแล้ว เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๐ มีคนญวนอพยพไปตั้งหลักแหล่งที่เรณูนคร คนญวนไปแย่งกิจการค้า การทำมาหากินของคนผู้ไทยในเรณูนคร จึงพากันขับไล่ พวกญวนทนไม่ได้ต้องอพยพไปอยู่ที่ตัวจังหวัดนครพนม
เรณูนคร จึงไม่มีชาวจีน และชาวญวนหรือคนต่างด้าวอื่น ๆ อยู่ในอำเภออีกเลย
ชาวผู้ไทยมีอยู่หลายจังหวัดในภาคอีสาน คือ
จังหวัดกาฬสินธ์ ๕ อำเภอ ๖๓ หมู่บ้าน
จังหวัดนครพนม ๕ อำเภอ ๑๓๒ หมู่บ้าน แต่มากที่สุดในอำเภอนาแก มี ๗๘ หมู่บ้าน
จังหวัดมุกดาหาร มี ๔ อำเภอ ๖๘ หมู่บ้าน
จังหวัดสกลนคร ๘ อำเภอ ๒๑๒ หมู่บ้าน
และยังมีอีกบ้างในจังหวัดอุบลราชธานี อุดรธานี หนองคาย ยโสธร ร้อยเอ็ด รวมแล้วอีก ๒๐ หมู่บ้าน
ส่วนในอำเภอเรณูนครนั้นมี ๓ ตำบล คือ ตำบลโพนทอง ตำบลเรณู และตำบลท่าลาด แต่ตำบลท่าลาด ไม่มีชาวผู้ไทยตั้งหลักแหล่งอยู่เลย รวมแล้ว ๒ ตำบล มีชาวผู้ไทย ๑๙,๐๐๐ คนเศษ
ตามตำนานการอพยพได้กล่าวไว้ในพงศาวดารล้านช้าง เล่าไว้ว่า
ที่เมืองน้ำน้อย อ้อยหนู หรือเมืองแถน มีปู่เจ้าลางเชิง ขุนเค็ก ขุนคาน ปกครองชาวผู้ไทยเมื่อเกิดทุพภิกขภัย พญากา หัวหน้าผู้ไทยคนหนึ่งได้เกิดขัดแย้งกับเจ้าเมือง จึงชักชวนชาวผู้ไทยจำนวนหนึ่งมาอยู่ที่เมืองวังอ่านคำ ในแขวงสุวรรณเขต ในปัจจุบัน ที่เมืองแห่งนี้มีชาวข่า อาศัยอยู่ก่อนแล้ว จึงเกิดพิพาทกันขึ้น ต่อมาชาวผู้ไทยถูกชาวข่า และชาวจีนฮ่อบุกรุกทำลายเผาบ้านเรือน และจับเอาพญาเตโช หัวหน้าชาวผู้ไทยไปเมืองจีน พญาเตโชได้สั่งลูกหลานว่า อย่าอยู่เมืองวังเลย ให้อพยพไปอยู่ฝั่งขวาแม่น้ำโขงเสียเถิด ฝั่งขวาหมายถึง ฝั่งประเทศไทย
ชาวผู้ไทย โดยการนำของท้าวเพชร และท้าวสาย จึงพาชาวผู้ไทยอพยพมาจากเมืองวัง อพยพข้ามมาอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง โดยการต่อเรือ ต่อแพล่องแม่น้ำโขงลงมา จนมาถึงบ้านพระกลาง เขตอำเภอธาตุพนม พระภิกษุเจ้าสำนักธาตุพนม ในเวลานั้น ได้แนะนำให้ไปตั้งบ้านเรือนที่ “ดงทวายสายบ่อแก” ชาวผู้ไทยจึงต้องอพยพกันต่อไป และตั้งบ้านเรือนขึ้นใหม่ให้ชื่อว่า “เมืองเว”
รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้า ฯ ให้ท้าวสาย เป็น “พระแก้วโกมล” เจ้าเมืองคนแรก และยกบ้านนี้ขึ้นเป็นเมืองเรณูนคร ขึ้นกับเมืองนครพนม ซึ่งปัจจุบันคือ อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม ชาวผู้ไทยนั้นมี ผู้ไทยดำ และผู้ไทยขาว ซึ่งผู้ไทยที่อยู่เมืองไทยนั้น น่าจะเป็นผู้ไทยดำ ทั้งนี้เพราะความแตกต่างทีสำคัญของชาวผู้ไทยดำ – ขาว คือ เครื่องแต่งกาย
ชาวผู้ไทยดำ ก็มีผิวขาวสวย ยิ่งสาว ๆ ยิ่งสวย แต่ทั้งชายและหญิง แต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีดำ หรือสีคราม ในถิ่นเดิม คือแคว้นสิบสองจุไทย นั้นมี ๘ เมือง ได้แก่ เมืองควาย เมืองแถง หรือเมืองน้ำน้อยอ้อยหนู เมืองดุง เมืองม่วย เมืองลา เมืองโมะ เมืองหวัด เมืองซาง
กลุ่มผู้ไทยขาว ในแคว้นสิบสองจุไทย มี ๔ เมือง ได้แก่ เมืองไล เมืองเจียน เมืองมุม เมืองบาง ชาวผู้ไทยขาวเลยขาวทั้งตัว ผิวก็ขาว เสื้อผ้าก็สีขาว
ชาวผู้ไทยเรณูนครนั้น น่าจะมาจากเมืองน้ำน้อยอ้อยหนูมากกว่าเมืองอื่น จึงเชื่อกันว่าผู้ไทยในเมืองไทยเป็นชาวผู้ไทยดำ
หากมายังเรณูนคร จะผ่านประตูเมืองของเขาเข้ามา ถนนสายนี้จะมุ่งไปยังองค์พระธาตุเรณู ที่วัดพระธาตุเรณู และสองข้างทางมีร้านขายสินค้าพื้นเมือง ที่ขึ้นชื่อลือนามที่สุดคือ “อุ” ใส่ไห ผนึกปิดฝาเอาไว้ ซื้อใส่รถไปได้ จะกินกันเมื่อไรก็นั่ล้อมวงรอบไห แล้วเอาน้ำเทลงไปในไหก็จะกลายเป็นเหล้า ให้ดูดกินได้ กินอุไม่รินใส่แก้ว ต้องใช้หลอดดูดจากในไห และสาวเรณูยั่วหนุ่มต่างเมืองดีนัก เช่น ในการรับรอง เป็นต้น สาวเรณูผู้ไทยแสนสวยจะมาร่วมดื่มอุด้วย อย่าไปดื่มแข่งกับเธอ ก็แล้วกันจะเมานอนเสียก่อน ไม่ทันคุย
ในวัดธาตุเรณู มีโรงละครน่าจะเป็นของศูนย์วัฒนธรรม ชื่อโรงละครเมืองเว
ชื่อเว ก็มาจากชื่อของเมืองเรณูนคร ที่ตั้งครั้งแรกนั้นเอง แต่น่าเสียดาย ที่ชาวผู้ไทยมีศิลปวัฒนธรรมของตัวเอง น่าจะจัดการแสดงให้มีกำหนดเวลาแน่นอน เช่น ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ต้นเดือน หรือเดือนละ ๒ ครั้ง เป็นต้น หากประชาสัมพันธ์ให้ดี ๆ รับรองว่า จะมีผู้เที่ยวชมกันแน่นทีเดียว
การฟ้อนที่สำคัญที่น่าชมอย่างยิ่งของชาวผู้ไทย ซึ่งสืบเนื่องมาตั้งแต่ยังอยู่ในถิ่นเดิมคือ เมืองแถง หรือเมืองน้ำน้อยอ้อยหนู ในแคว้นสิบสองจุไท การฟ้อนผู้ไทยเรียกว่า “รำผู้ไทย” ดั้งเดิมนั้นจะมีการฟ้อนเน้นความสนุกสนานภายในกลุ่มที่ร่วมฟ้อนด้วยกัน เช่น ในงานทำบุญมหาชาติ งานนมัสการพระธาตุเรณู และงานเทศกาลอื่น ๆ ท่ารำของรำผู้ไทยได้ดัดแปลงมาจากการเดิน การบิน การเต้นของสัตว์ เพราะชาวผู้ไทยมีอาชีพทำนา ขณะไถนาจะมีการ หรือนกหลายประเภท ลงมาหากินตามทุ่งนา และมีการหยอกล้อกัน ฟ้อนผู้ไทยจึงได้ดัดแปลงมาเป็นท่ารำ ท่ารำนั้นมากมายหลายท่า แสดงถึงการเลียนแบบธรรมชาติ เช่น ท่านกกะบาบิน ท่ากาเต้นก้อนขี้ไถ ท่ากาเต้นก้อนข้าวเย็น ท่าเสือออกท่า ท่าเสือชมหมอก ท่ามวยโบราณ ท่าจระเข้ฟาดหาง ท่ารำเกี้ยว เป็นต้น